เมื่อทำความดีมากมาย กลายเป็นภัยต่อความมั่นคง






ไม่ว่าโลกจะเจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยีไปอีกมากมายเพียงใด เรื่องราวเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือในยุคปัจจุบัน ล้วนเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่นนี้ เสมอมา ทั้งนี้เพราะกิเลสในใจมนุษย์ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ล้วนเป็นกิเลสตัวเดิม คือ โลภ โกรธ และหลง และคนเราล้วนกลัวในสิ่งที่ไม่เข้าใจ เช่นปัจจุบันการจัดตักบาตรสามเณรแสนรูป ซึ่งเป็นการรวมสงฆ์มาประกอบคุณงามความดีที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ถูกมองว่า อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง แม้ในอดีต พระพิมลธรรม สอนสั่งสาธุชนประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องในแนววิปัสสนาแบบของประเทศพม่า ก็กลายเป็นสมคบคิดลัทธิคอมมิวนิสตร์ กลายเป็นภัยต่อความมั่นคง และถ้าย้อนอดีตไปยิ่งกว่านั้น ก็จะพบว่า การที่ชายคนหนึ่ง รวบรวมพรรคพวก ประกอบคุณงามความดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีใครทำมาก่อนในยุคนั้น ก็กลับกลายเป็นภัยต่อความมั่นคง เช่นเดียวกัน


ชายหนุ่มท่านนี้ ชื่อว่า มฆมานพ เป็นหนุ่มน้ำใจงาม ชอบแผ้วถาง และเก็บกวาดหนทางที่สกปรกรกรุงรัง ให้ดูสะอาดตา พาสบายใจ กลายเป็นสถานที่น่าพักน่ารื่นรมย์ แล้วก็เข้าพักผ่อนหย่อนใจ แต่เขาพักผ่อนได้เพียงไม่นาน เนื่องจากชาวบ้านคนอื่นเห็นสถานที่แห่งนี้ ดูน่ารื่นรมย์ ก็ตรงเข้าใช้กำลังแย่งที่พักของเขา โดยใช้แขนผลักเขาให้ออกไปจากสถานที่นั้น จากนั้นยึดทำเลทองไว้เป็นของตนแทน แต่มฆมานพ ก็หาได้โกรธเคืองชาวบ้านคนนั้นไม่ เขาก็เดินไปแสวงหาสถานที่สกปรกรกรุงรังที่อื่นๆ แล้วแผ้วถางเก็บกวาดให้ดูสะอาดตา พาสบายใจอีกเช่นเดิม

ครั้นพอชาวบ้านคนใหม่มาเห็น ก็ตรงเข้าแย่งทำเลทองของเขา ด้วยวิธีการเหมือนเดิม คือ ใช้กำลังเข้ายื้อแย่งโดยตรง ซึ่งมฆมานพ ก็ไม่ได้โกรธเคืองใดๆ เขาก็ย้ายไปทำสถานที่ใหม่ ให้ดูน่ารื่นรมย์ต่อไป เขาคิดเพียงว่า ทุกคนที่ได้มาพักในสถานที่ที่น่ารื่นรมย์ที่เขาได้แผ้วถางไว้ดีแล้ว ล้วนมีความสุข ตัวเขาเองก็พลอยมีความสุขไปด้วยเมื่อได้เห็นทุกคนมีความสุข ยิ่งพอหน้าหนาว ก็ช่วยก่อไฟให้คนได้ผิงไฟให้รู้สึกอบอุ่นบรรเทาความหนาว พอถึงหน้าร้อน ก็ไปยังแหล่งน้ำ ตักน้ำในแม่น้ำลำธาร มาเติมในบ่อน้ำให้ชนชาวเมืองก็ได้อาศัยน้ำในบ่อดับกระหายคลายร้อน เป็นต้น

จากนั้น มฆมานพ ก็คิดต่อไปอีกว่า ทุกๆคนล้วนชอบอยู่ในที่น่ารื่นรมย์กันทั้งนั้น ต่อจากนี้ไปเขาจะเอาบุญด้วยการแผ้วถาง กระทำทางเดินให้สะอาด สวยงาม น่ารื่นรมย์ ว่าแล้วเขาก็ออกจากบ้านไปแต่เช้า เอาจอบไปถางทางทำถนนหนทางให้เรียบเสมอกัน


ชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมา เห็นเขาทำเช่นนั้นก็ถามว่า "แน่ะเพื่อน กำลังทำอะไรหรือ ? "
เขาตอบว่า "เรากำลังทำทางไปสวรรค์"
บางคนฟังแล้ว ก็รู้สึกชื่นชมยินดี แล้วก็จากไป แต่บางคนฟังก็รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา ขอร่วมถางทางร่วมกับเขาด้วย จากหนึ่งเป็นสอง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ชายหนุ่มถึง 33 คน รวมทั้งเขาด้วย ทั้งหมดได้ช่วยกันทำทางเดินให้สะอาด น่ารื่นรมย์ ตลอดระยะทาง 32 กิโลเมตร
เวลานั้นมีนายบ้านคนหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้ภาษาสมัยนี้ ก็เปรียบได้กับผู้ใหญ่บ้าน เขาเห็นว่ามีกลุ่มคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความหวาดระแวง ประกอบกับกลัวว่า อำนาจของตนเองจะหมดไป ความริษยาบังเกิดขึ้นในใจ จึงชักชวนให้ชายหนุ่มทั้ง 33 คน ห่างไกลจากความดี ด้วยการ ทำความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ดื่มสุรา เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่ดีกว่าตน แต่ทั้ง 33 คน ไม่เห็นด้วยกับคำชักชวนนั้น มิหนำซ้ำยังมีความตั้งใจทำความดียิ่งขึ้นไปอีก แม้นายบ้านจะเพียรพยายามชักชวนให้ทั้ง 33 คนลงสู่ประตูอบาย ด้วยวิถีของอบายมุข หลายครั้งหลายครา แต่ก็หาได้เปลี่ยนความคิดของฆมมานพและพรรคพวกได้แม้แต่น้อย
นายบ้าน รู้สึกโกรธที่พวกเขาไม่ยอมเชื่อฟังตน จึงคิดอุบายไปฟ้องพระราชา หรือ สมัยนี้ก็คือ ออกสื่อใส่ความผู้อื่นนั่นเอง โดยกล่าวหาว่าชายหนุ่มกลุ่มนี้เป็นพวกโจร เป็นภัยต่อความมั่นคง พระราชาเพียงได้ยินว่า มีพวกโจรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงเท่านั้น ก็หลงเชื่อนายบ้านเสียสิ้น แล้วส่งทหารไปจับมฆมานพ กับพรรคพวกทั้ง 33 คนมาที่ราชวัง และโดยยังไม่ได้สอบสวนเรื่องราวใดๆ ก็ได้สั่งลงโทษชายหนุ่มทั้งหมด โดยการให้ช้างไปเหยียบ
เมื่อชายหนุ่ม 33 คน เห็นว่าช้างจะมาเหยียบพวกตน รู้สึกตกใจกลัวมาก แต่มฆมานพได้ปลอบเพื่อนๆ ว่า "เพื่อนเอ๋ย ! นอกจากความเมตตาแล้ว ที่พึ่งอย่างอื่นของพวกเรานั้นไม่มี ขอเพื่อนจงอย่าโกรธเคืองใดๆ กับใครเลย จงแผ่เมตตาให้แก่พระราชา นายบ้าน ทหาร ช้าง และตนเองให้เสมอกันเถิด"
ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิตของพวกเขานั้น ช้างจึงไม่กล้าเหยียบชายหนุ่มเหล่านั้น พระราชาทรงทราบเรื่องเข้า คิดว่าช้างคงกลัวเพราะเห็นคนอยู่กันมาก ไม่กล้าเดินเหยียบ  จึงสั่งให้นำเสื่อลำแพนไปคลุมคนเหล่านั้นไว้ แล้วสั่งให้ช้างเหยียบอีก ซึ่งชายหนุ่มทั้งหมด ก็ยังคงใช้วิธีการเดิม คือ ทำใจให้ผ่องใส แผ่เมตตาเหมือนเดิม ช้างก็ไม่กล้าเหยียบอีก
พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ประหลาดเช่นนี้ ทรงฉุกใจคิด จึงมีรับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาสอบสวนว่าเรื่องราว เป็นมาอย่างไร ทำไมพวกเจ้าทั้งหลาย ถึงได้เที่ยวประพฤติตนเป็นโจร เบียดเบียนชาวบ้าน เป็นภัยต่อความมั่นคงเช่นนี้ มฆมาณพตอบว่า "พวกข้าพระองค์มิได้เป็นโจร ข้าพระองค์กำลังทำทางไปสู่สวรรค์ให้แก่ตน แล้วใครไปกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระองค์ทั้งหมดเป็นโจรหรือ” ครั้นเมื่อทราบจากพระราชาว่า นายบ้านไปกราบทูลใส่ความพวกตนเช่นนั้น จึงอธิบายต่อว่า
“นายบ้านท่านนี้ คอยมาชักชวนให้พวกข้าพระองค์เลิกแผ้วถางเส้นทางไปสวรรค์ แล้วให้ทำสิ่งที่เป็นอกุศล เป็นอบายมุขเป็นต้น แทน เมื่อพวกข้าพระองค์ปฎิเสธ เขาจึงปรารถนาให้พวกข้าพระองค์ถึงความพินาศ เลยไปใส่ร้ายว่าพวกข้าพระองค์เป็นโจร”
เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องราวตามความเป็นจริงดังนี้ ทรงโสมนัสยินดีตรัสว่า "แม้ช้างเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังรู้จักคุณความดีของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์กลับไม่รู้จัก อภัยให้เราด้วยเถิดนะ" จึงรับสั่งให้ทหารปล่อยชายหนุ่มทั้ง 33 คน เป็นอิสระ และพระราชทานนายบ้าน ภรรยาและลูก ให้เป็นทาสของมฆมานพ พร้อมทั้งพระราชทานช้างเชือกนั้นให้เป็นพาหนะ เพื่อสนับสนุนในการทำความดี มฆมาณพกับเพื่อนๆ เมื่อเห็นอานิสงส์ของการทำความดี ประจักษ์ชัดด้วยตนเองเช่นนี้ ก็ยิ่งตั้งใจสร้าง สาธารณประโยชน์ต่างๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ตราบชั่วอายุขัย ละโลกแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ และสหายเทวดานั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ยุคใดยุคสมัยใดก็ตาม คนพาลทั้งหลาย ก็ทนเห็นบัณฑิตกระทำคุณความดีไม่ได้ ทั้งนี้เพราะแนวคิดของคนพาลไม่เหมือนคนดีทั้งหลาย คนดีทั้งหลาย เมื่อเห็นคนทำความดี ย่อมชื่นชมอนุโมทนา แต่คนพาลจะหวาดระแวง เกรงว่า การทำความดีนั้น จะทำให้คนดีมีอำนาจเหนือพวกตน ภายหลังก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของพวกตน ต่อจากนั้น ก็จะหาวิธีการต่างๆ นาๆ เช่น พยายามชักชวนให้คนดี เลิกทำความดีนั้นเสีย เพราะหากทำต่อไปผู้คนจะให้ความเคารพยกย่อง เหนือล้ำยิ่งกว่าคนพาล ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็ออกสื่อเล็กสื่อใหญ่ใส่ความ ให้ประชาชนทั่วไป และผู้ปกครองหลงเชื่อคำยุยงใส่ร้ายของพวกตน แล้วก็ดำเนินการขัดขวางทำความดีของคนดี โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

แต่อย่างไรก็ตาม ปรัชญาของคนดี วิธีการของคนดี แม้จะถูกขัดขวางการทำความดีกี่ครั้งก็ตาม เราก็จะขอยึดมั่นในคุณความดีนั้น ด้วยการ ไม่สู้ ไม่หนี แต่ทำความดี และอธิบายสิ่งดีๆ ของเราเรื่อยๆ ไป เชื่อมั่นว่า ผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย เมื่อได้รู้และเข้าใจเรื่องราวที่มาที่ไปอย่างถ่องแท้แล้ว เขาก็จะมาปกป้องดูแลและเชิดชูคนดี เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมธรรมาภิบาล เจริญได้อย่างยั่งยืน ไม่คืนกลับ นั่นเอง


อ้างอิงจาก





เมื่อทำความดีมากมาย กลายเป็นภัยต่อความมั่นคง เมื่อทำความดีมากมาย กลายเป็นภัยต่อความมั่นคง Reviewed by Kiat on 07:57 Rating: 5

5 ความคิดเห็น:

  1. ยอดเยี่ยม กระจ่างชัด ทันเหตุการณ์
    อนุโมทนาสาธุในปัญญาบารมีเผยแผ่แก่สังคม

    ตอบลบ
  2. ถ้าหากคนในสังคมทุกคนตั้งใจถางทางไปสวรรค์
    หรือไปนิพพานให้ตัวเองอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ดังที่พระบรมโพธิสัตว์ทุกๆพระองค์ได้ประพฤติทำมา
    ตั้งแต่ยังเป็นบุคคลธรรมดา
    สร้างแต่ความดีมาเรื่อยๆทุกภพ ทุกชาติ
    เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมครบทุกบารมี พระองค์ก็ได้มา
    ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอก
    ของโลก
    คนในสังคมไม่เบียดเบียนกัน ทำแต่ความดี ทำแต่บุญกุศล แล้วสิ่งแวดล้อมทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นดิน ฟ้า อากาศ ลม ฝน ก็จะดีทุกอย่าง ไม่ร้อนไป
    ไม่หนาวไป เวลาหน้าพายุฝนก็จะตกพอดีๆ
    ลมก็จะพัดเย็นสบาย ไม่ทำรายบ้านเรือนและของทุกอย่างให้เสียหาย
    ถ้าเราไม่อยากให้โลกนี้เลวร้ายเข่นทุกวันนี้ เรามาช่วยกันทำความดี โดยการมาทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
    ทำทานให้ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเราเลยในวันที่22เมษายน2559ที่วัดพระธรรมกายกันนะคะ
    อย่าลืมชวนบุคคลอันเป็นที่รักของเรามาด้วยค่ะ
    บุญไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องมาทำเองค่ะ
    สาธุนะคะ มากันเยอะๆค่ะ
    วัดพระธรรมกายยินดีต้อนรับทุกท่านมาเอาบุญใหญ่ๆค่ะ

    ตอบลบ
  3. เข้าตำราที่ว่า...จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
    ไม่มีใคร อยากเห็น เราเด่นเกิน และโดยนิสัยของ
    คนพาลนั้น จะมองเห็นนิทานชาดก เป็นเรื่องแต่งขึ้น
    แต่งหลอกคนอ่าน ไม่ใช่เรื่องจริง จะเอาชนะคนพาล
    ได้ คงต้องใช้ความอดทน ใช้ปัญญาแบบทีมหัตถ์สวรรค์
    และแผ่เมตตา วันหนึ่งพวกเขาก็จะ แพ้ภัยตัวเอง

    ตอบลบ
  4. สุดยอดเลยเจ้าค่ะ เรื่องดีๆอย่างนี้อยากให้ทุกได้อ่านเจ้าค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ เจ้าค่ะ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.