พระพุทธเจ้าสอนอะไร ธรรมกายสอนอย่างนั้น จริงหรือ

ตามที่เหล่าศิษย์ทั้งหลายของวัดพระธรรมกาย ได้พยายามชี้แจงอธิบายว่า คำสอนของวัดพระธรรมกาย เป็นไปตาม คำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ในขณะที่สื่ออื่นๆ อีกหลายๆ สื่อ ก็ยังคงแสดงความเห็นในทางตรงกันข้ามว่า วัดพระธรรมกายสอนผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า และหนึ่งในคำสอนสำคัญที่ถูกนำมาเป็นประเด็น คือ หลักปฏิบัติสมาธิ วัดพระธรรมกายถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการสอนเรื่องสมาธิว่า
วัดพระธรรมกายสอนการปฏิบัติสมาธิ ให้กับอุบาสิกาแก้ว 1 ล้านคน

ธรรมกายสอนให้ทำสมาธิ เพื่อความร่ำรวย และต้องการฤทธิ์เดช อยากใหญ่ อยากเป็นอมตะ ทั้งนี้เพราะสอนให้ยึดติดนิมิต ไม่อาจหลุดพ้นจากภพสาม บรรลุนิพพานไปได้
ในขณะที่พระพุทธเจ้าสอนการเจริญสมาธิ เพื่อเป็นบรรทัดฐานและตั้งมั่นของปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และความเผ็ดร้อนของทุกข์ พูดเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆว่า สอนทำสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา เห็นโลกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จนบรรลุนิพพาน

หากเป็นเช่นนี้จริงๆ ย่อมถือได้ว่า คำสอนต่างกันอย่างมาก แต่ความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราต้องมาพิสูจน์กันในคำสอนของวัดพระธรรมกาย กับคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกครับ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า วิธีปฏิบัติสมาธิของวัดพระธรรมกายนั้น ได้แบบอย่างมาจากหลวงปู่สด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติแบบ อาโลกกสิน คือ นึกดวงสว่างเป็นนิมิต คู่ไปกับธรรมานุสติ คือ ภาวนาด้วยถ้อยคำธรรมะบทใดบทหนึ่ง ในที่นี้ คือ สัมมาอะระหัง ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ก็มีอยู่ในการปฏิบัติ 40 วิธีตามตำรา ที่สอนสั่งและปฏิบัติสืบเนื่องกันมา และวิธีการปฏิบัติเบื้องต้นของวิธีนี้ ไม่ได้เป็นที่กังขา หรือสงสัยในความถูกต้องแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติสมาธิทุกๆ วิธี ก็คือ มุ่งให้ใจสงบ ที่ภาษาพระเรียกว่า สมถะ นั่นเอง
แต่ประเด็นที่เป็นข้อสงสัย คือ แนวทางการปฏิบัติต่อจากนี้ไป เมื่อเห็นผลของการปฏิบัติในเบื้องต้นแล้ว ที่เขานิยมเรียกว่า วิปัสสนา นี่แหละ ว่าทำกันอย่างไร ถูกต้องร่องรอยในพระไตรปิฎกหรือไม่ ทั้งนี้เพราะผลของการปฏิบัติสมาธิ จนจิตสงบ หยุดนิ่งถูกส่วน จะเกิดนิมิตขึ้น หลังจากเกิดนิมิตนี้เอง ที่ทางวัดพระธรรมกายถูกมองว่า ปฏิบัติผิดเพี้ยน นั่นคือ ให้ยึดติดในนิมิตนั้นไม่ไปไหน หวังให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ บันดาลให้เกิดความร่ำรวย ความเป็นใหญ่ ความเป็นอมตะ โดยไม่ปล่อยวางนิมิตทิ้งเสีย จนจิตว่าง พบแก่นของธรรมะ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
พระพุทธเจ้าทรงเทศน์สอนผู้ยังมีธุลีในดวงจิตทั้งหลาย
ถึงตรงนี้ ก็ต้องมาลองศึกษาแนวทางการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกว่าเป็นอย่างไรนะครับ ซึ่งการศึกษาจะเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครู ยอดปรามาจารย์ หากเปรียบเป็นนักดนตรี ก็เปรียบดังผู้ที่หยิบจับอะไรขึ้นมา ก็ใช้เป็นเครื่องดนตรีได้หมด หากเปรียบเป็นหมอเทวดา ก็เป็นหมอที่หยิบจับต้นไม้ใบหญ้าใดๆ ขึ้นมา ก็ทำเป็นสมุนไพรได้หมด เพราะพระพุทธองค์สามารถสั่งสอนและปฏิบัติสมาธิด้วยวิธีที่แตกต่างกันได้หลากหลายวิธี ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างแบบที่ตรงกันข้ามกัน แต่ได้ผลเช่นเดียวกัน มาให้พิจารณา

โดยแบบแรกสรุปคร่าวๆ คือฝึกสมาธิโดยใช้ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ เริ่มจาก ไม่ใส่ใจในทุกสิ่งทุกอย่าง มาใส่ใจในอากาศที่ว่างเปล่า จิตก็จะบริสุทธิ์ขึ้น ต่อมา ก็ไม่ใส่ใจในอากาศที่ว่างเปล่า มาใส่ใจในความไม่มีอะไรเลย จิตก็บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก ต่อมา ก็ไม่ใส่ใจในความไม่ใส่ใจอะไรเลย มาเป็นใส่ใจในความตั้งมั่นแห่งสมาธิจิต ที่ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ แล้วพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา จนหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง


ส่วนอีกแบบหนึ่ง เป็นแนวการฝึกสมาธิแบบกำหนดนิมิตเป็นอารมณ์ ซึ่งตรงข้ามกับแบบแรก คือ สมัยพระพุทธองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อพระพุทธองค์ไม่ประมาท ทำความเพียร มีจิตตั้งมั่น ก็สามารถเห็นแสงสว่างได้ แต่ยังไม่เห็นเทวดา จึงคิดต่อว่า ถ้าจิตหยั่งรู้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จะได้เห็นเทวดาได้ด้วย ต่อมาเมื่อไม่ประมาท ทำความเพียร มีจิตตั้งมั่น ก็สามารถเห็นแสงสว่าง เห็นเทวดา แต่ยังพูดคุยด้วยไม่ได้ จึงคิดต่อว่า ถ้าจิตหยั่งรู้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จะพูดคุยกับเทวดาได้  ต่อมาเมื่อพูดคุยกับเทวดาได้ด้วย แต่ยังไม่รู้ว่า เทวดามาจากสวรรค์ชั้นไหน ก็คิดต่อว่า ถ้าจิตหยั่งรู้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ก็จะรู้ว่าเทวดามาจากไหน ต่อมา เมื่อรู้ว่า เทวดามาจากไหน ก็คิดต่อว่า จิตหยั่งรู้จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป หากรู้ด้วยว่า ชาติก่อนเทวดาทำบุญอะไร แล้วชาตินี้หมดบุญจากเทวดาแล้ว จะไปเกิดเป็นอะไร ต่อมาเมื่อรู้ได้เช่นนี้แล้ว ก็คิดต่อว่า จิตหยั่งรู้ จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก หากรู้ด้วยว่า พระองค์ได้เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านั้นแต่ชาติปางก่อนมาหรือเปล่า และเมื่อรู้ได้เช่นนี้ แสดงว่า มีจิตหยั่งรู้ที่ยิ่งบริสุทธิ์ จึงทรงประกาศว่า ได้บรรลุญาณหยั่งรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง นั่นเอง

จะเห็นว่า แม้พระพุทธเจ้า จะทรงเลือกใช้ความว่างเปล่า หรือเลือกใช้นิมิตเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกันแบบตรงกันข้าม แต่ก็ทรงดำเนินตามหลักวิชชาที่ไม่แตกต่างกัน คือ ไม่ประมาท ใส่ใจทำความเพียรไปทีละขั้นทีละขั้น จิตก็จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นๆ จนสุดท้ายสามารถหมดกิเลส บรรลุธรรมได้ในที่สุ

ส่วนวัดพระธรรมกายเอง ในเบื้องต้น หลวงพ่อธัมมชโย ท่านจะสอนให้นึกนิมิตดวงแก้วใส ที่กลางกาย ส่วนยุคหลังๆ นี่ถ้าใครไม่ชอบนึกนิมิต ท่านก็สอนให้ทำใจว่างๆ ไม่คิดอะไรเลยเช่นกัน ซึ่งเมื่อจิตเริ่มหยุดนิ่ง ก็จะเริ่มเห็นนิมิตเลื่อนลอยภายนอกตัว ท่านก็จะสอนให้ปล่อยวางไม่สนใจนิมิตเลื่อนลอยเหล่านั้น จนจิตสงบนิ่งถูกส่วน เห็นนิมิตดวงธรรม ท่านก็ยังคงสอนให้ปล่อยวาง เพื่อแสวงหาแก่นธรรมยิ่งๆขึ้นไป ไม่ได้ยึดติดในนิมิตครับ แต่วิธีปล่อยวาง ไม่ใช่ทิ้งนิมิตนั้นไปเลย แต่หยุดนิ่งภายในกลางเรื่อยๆไป ปล่อยวางนิมิตดวงเก่าเข้าไปภายใน ก็จะเห็นดวงใหม่ขึ้นมาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อุปมาดั่งคนต้องการตามหาแก่นไม้สัก หากเขาพบไม้เต็ง ก็กอดไว้ ด้วยสำคัญว่า ไม้สัก อย่างนี้ครับ เรียกว่า ติดในนิมิตเลื่อนลอยต่างๆ ไม่พบแก่นแท้ แต่หากพบไม้สัก ก็โยนทิ้งไปเลย เหลือแต่ความว่างเปล่า เขาก็ย่อมไม่เจอแก่นแท้เช่นกัน แต่ถ้าเจอไม้สัก ก็ไม่ได้ติดแค่ที่เปลือก แต่ลงมือกระเทาะเปลือกไม้ กระเทาะเนื้อไม้ กระเทาะกระพี้ไม้ ไปเรื่อยๆ จนถึงแก่นไม้สัก อย่างนี้แหละ จึงจะเรียกว่า พบแก่นแท้
จิตสงบถูกส่วน จนเกิดนิมิต ก็ดำเนินจิตไม่ประมาท ใส่ใจทำความเพียรภายใน ปล่อยวางดวงนิมิตเก่า พบดวงนิมิตใหม่ภายในไปเรื่อยๆ
จะหาแก่นไม้ จะต้องกระเทาะเปลือกไม้ เนื้อไม้ กระพี้ไม้ ไปจนถึงแก่น จะหาแก่นธรรมก็ต้องทำเช่นเดียวกัน

อุปมาดั่งการปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น หยุดนิ่งเรื่อยๆไป ปล่อยวางนิมิตเก่า พบนิมิตใหม่ในภายในเรื่อยๆไป จนกระทั่งถึงพระธรรมกาย หากมุ่งมรรคผล ก็อาศัยปัญญาของพระธรรมกาย พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของกายต่างๆ ในภพสาม จนหมดกิเลสบรรลุธรรมในที่สุด แต่หากมุ่งบำเพ็ญบารมีกันเป็นทีมเพื่อให้หลุดพ้นไปด้วยกัน ก็หมั่นฝึกฝนให้คล่องแคล่วชำนาญ ศึกษาวิชชาธรรมกาย โดยการยังจิตให้บริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้น จิตก็จะมีอานุภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ ในคยาสูตร ที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดู และสั่งสอนผู้มาใหม่ไปเรื่อยๆ เป็นวาสนาบารมีต่อๆไป จนกว่าจะสามารถหลุดพ้นไปด้วยกันทั้งทีม นั่นเอง

สรุปสุดท้าย คำสอนเรื่องสมาธิของวัดพระธรรมกายก็เป็นไปตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ไม่ได้สอนให้ยึดติดในนิมิต อยากใหญ่ อยากเป็นอมตะในภพสาม เพราะรู้ว่า กายมนุษย์ กายทิพย์ กายใดๆ ในภพสามล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ปล่อยวางนิมิตทั้งหลาย โดยดำเนินจิตเข้าไปในกลางเรื่อยๆไป จนกระทั่งถึงพระธรรมกาย

ต่อจากนั้น ก็ไปว่ากันต่อถึงเรื่องนิพพานแล้วล่ะครับ ว่าคำสอนเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกันแน่ ในตอนสุดท้ายเกี่ยวกับคำสอนเรื่องนิพพาน ตอนหน้าครับ

พระพุทธเจ้าสอนอะไร ธรรมกายสอนอย่างนั้น จริงหรือ พระพุทธเจ้าสอนอะไร ธรรมกายสอนอย่างนั้น จริงหรือ Reviewed by Kiat on 22:35 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.