บทส่งท้ายเรื่องนิพพาน อย่าให้เป็นเครื่องทำลายกันอีกเลย

เขียนเรื่องราวนิพพาน มาจนถึงตอนนี้ ก็เป็นตอนสุดท้ายแล้วนะครับ และนี่จะเป็นบทพิสูจน์คำสอนของหลวงพ่อธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกายที่ท่านกล่าวถึง อายตนะนิพพาน ในขณะที่ สื่ออีกกลุ่มหนึ่ง ก็ทักท้วงว่า อายตนะนิพพาน ไม่มีจริง เพราะไม่มีคำนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก อีกทั้งคำนี้เป็นการสื่อว่า นิพพานเป็นเหมือนดินแดน ซึ่งไม่พ้นไปจากภพสาม(โลกใบนี้) ทั้งที่ความจริงนิพพานไม่ใช่อะไรในภพสาม ไม่ใช่อะไรในโลกนี้ทั้งหมด การใช้ถ้อยคำทำนองว่า นิพพานเป็นเหมือนดินแดนที่ติดต่อกันได้ในภพสาม ย่อมไม่ถูกต้อง แล้วความจริงคืออะไร อายตนะนิพพาน มีจริงหรือไม่ นี้จึงเป็นที่มาของบทความสุดท้ายในวันนี้เรื่องนิพพาน อย่าให้เป็นเครื่องมือทำลายกันอีกเลย

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราก็ต้องมาทำความเข้าใจความหมายของ อายตนะกันก่อนนะครับ คำว่า อายตนะในที่นี้มีสองความหมาย คือ หนึ่งหมายถึง เครื่องรู้ และสองหมายถึง สิ่งที่ถูกรู้ เช่น ตาเป็นเครื่องรู้รูป และรูปที่สิ่งที่ถูกรู้โดยตา หูเป็นเครื่องรู้เสียง และเสียงเป็นสิ่งที่ถูกรู้โดยหู ฯลฯ ตามความหมายเช่นนี้ อายตนะจึงแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทที่หนึ่ง คืออาตยนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งใช้เป็นเครื่องรู้อายตนะภายนอก ซึ่งเป็นอาตยนะประเภทที่สอง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ทางใจต่างๆ
อายตนะได้แก่เครื่องรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหกในโลกนี้

เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว ก็จะเห็นว่า การรับรู้ใดๆ ในภพสามนี้ ไม่มีทางพ้นจาก การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไปได้โดยเด็ดขาด และสิ่งที่ถูกรู้ในโลกนี้ ก็ไม่มีสิ่งใดนอกเหนือไปจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ทางใจ เช่นเดียวกัน นั่นคือ อายตนะใดๆ ในโลกนี้ หรือในภพสาม ก็จะมีเพียง 6 ประเภทเท่านั้น ไม่มีอายตนะอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ในชนผู้ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบในโลกนี้อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากผู้นั้นบรรลุธรรมล่ะ นั่นย่อมจะเป็นข้อยกเว้นครับ

ดังเรื่องราวในพระไตรปิฎก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส กายสักขี หรือ ผู้เข้าถึงธรรมเป็นประจักษ์พยานกับตัวเอง ดังนี้ว่า ภิกษุผู้บรรลุปฐมฌาน ท่านย่อมถูกต้องอายตนะนั้น ด้วยกายด้วยอาการนั้นๆ แม้เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกายสักขี ถ้าภาษาชาวบ้าน ก็บอกว่า ภิกษุผู้มีสมาธิจิตตั้งมั่นในขั้นที่หนึ่ง หรือขั้นเบื้องต้น ย่อมรับรู้สภาวะสมาธิตั้งมั่นขั้นที่หนึ่งเป็นอารมณ์ทางใจ นั่นคือ อายตนะนั้นหรือสิ่งที่ถูกรู้นั้น เป็นหนึ่งในอาตยนะหก ถูกใจของท่านรับรู้ได้ ซึ่งแม้เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้า ก็รับรองว่า ผู้นั้นมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยเห็นเป็นประจักษ์พยานกับตัวเองแล้ว  และอายตนะนั้น ที่ว่านี้ คือ อารมณ์สมาธิขั้นที่หนึ่ง นั่งเอง

เช่นเดียวกัน ผู้ที่บรรลุสมาธิจิตตั้งมั้นขั้นที่สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ ก็ย่อมรับรู้สภาวะสมาธิตั้งมั่นขั้นที่สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ อารมณ์จิตของพระอรหันต์ขั้นแตกฉานในธรรม ท่านย่อมถูกต้องอายตนะนั้น ด้วยกายด้วยอาการอยางนั้นๆ แม้เพียงเท่านั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสกายสักขี ซึ่งจะสังเกตได้ว่า คำว่า อายตนะนั้น ในขั้นหมดกิเลสนี้ ย่อมไม่ใช่อายตนะทั้งหก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ทางใจใดๆ ในโลกนี้แล้ว แต่อายตนะนั้น ในที่นี้ มีอยู่ และเป็นสภาวะที่พ้นโลกไปแล้ว พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส จึงถูกต้องอายตนะนั้น ด้วยกายด้วยอาการนั้นได้ นั่นเอง
กายสักขี : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=9604&Z=9623

ที่นี้ลองมาดูพระไตรปิฎกอีกบทหนึ่ง เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรียกว่า ชัดเจนไปเลยครับ ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ทรงแสดงธรรมให้พระภิกษุอาจหาญ ร่าเริงในธรรม ด้วยธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติให้บรรลุนิพพาน จากนั้น ก็ตรัสสรุปว่า “ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ”

คำว่า อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ อารมณ์ทางจิตในระดับของอรูปพรหม 4 ระดับ ที่ยังไม่พ้นไปจากภพสามครับ ซึ่งเมื่อสรุปถ้อยคำของพระพุทธเจ้าก็สรุปได้ว่า อายตนะนั้น ที่ไม่ใช่ อาตยนะภายนอกทั้งหก อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ใดๆ ในโลกนี้ นั้นมีอยู่ และอายตนะนั้น ก็ไม่ใช่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่อารมณ์ทางจิตของพวกอรูปพรหมด้วย อีกทั้งไม่ใช่ โลกนี้ โลกหน้า ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ซึ่งอายตนะนั้น จะเป็นอย่างไปไม่ได้ นอกจาก อายตนะนิพพาน นั่นเอง
นิพพานสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=3977&Z=3992

จากการศึกษาพระไตรปิฎกสองบทนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านพูดถึง อายตนะนั้น บางครั้งท่านทรงหมายเอา อายตนะหกในโลกนี้ เช่น การตรัสกายสักขีของผู้บรรลุปฐมฌาน เป็นต้น แต่บางครั้ง ท่านก็หมายถึงอาตนะนิพพานที่พ้นจากโลกนี้ไปแล้ว เช่น การตรัสกายสักขีของผู้หมดกิเลสแล้ว และบทที่ว่า อายตนะนั้น ที่ไม่ใช่สิ่งๆใดในโลกนี้ มีอยู่ เป็นต้น ดังนั้น การที่หลวงพ่อธัมมชโย ท่านพูดถึง อายตนะนิพพาน ก็ย่อมมีอยู่ เพราะอายตนะนั้น มีอยู่ นั่นเอง หรือบางครั้งท่านก็พูดว่า นิพพานเป็นที่โล่งว่างๆ ทำนองนี้ ท่านก็ไม่ได้หมายถึง สถานที่โล่งๆว่างๆใดๆ ในโลกนี้ หรือในภพสามนี้ครับ แต่เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมพอจะเข้าใจสภาวะนิพพานในระดับเบื้องต้นก่อน จะได้เกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติเพื่อมุ่งไปสู่นิพพานสืบไป

คำว่า ฝั่ง ถูกนำไปใช้เป็นคำพูดแทนคำว่า นิพพาน ในพระไตรปืฎกหลายบท
ซึ่งแม้ในพระไตรปิฎก ก็มีหลายบท ที่มีการกล่าวถึงนิพพาน ด้วยภาษาที่สื่อไปในทำนองว่า เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในโลกนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพื่อให้ผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกพอที่จะเข้าใจในเบื้องต้น เช่น บางครั้งก็เปรียบ นิพพาน เป็นคำว่า “ฝั่ง” บางครั้งก็เปรียบ นิพพาน เป็นคำว่า “แดนเกษม” เป็นต้น ดังเช่น ในบทนี้ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรม แปดประการ คือ มรรคมีองค์แปด ที่ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมทำให้ถึงฝั่ง จากที่ไม่ใช่ฝั่ง ซึ่งชนที่ถึงฝั่ง มีจำนวนน้อย ชนใดที่ปฏิบัติตามคำสอนไว้ดีแล้ว ละธรรมฝ่ายดำ ปฏิบัติตามธรรมฝ่ายขาว ก็จะข้ามบ่วงมฤตยูไปถึงฝั่งได้”

หรืออีกบทหนึ่ง มีพราหมณ์มาถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรเป็นฝั่งนี้ อะไรเป็นฝั่งโน้น ก็ทรงตรัสตอบว่า การปฏิบัติถูก เป็นฝั่งนี้ การปฏิบัติผิด เป็นฝั่งโน้น ชนที่ไปถึงฝั่งโน้น มีน้อย ชนใดที่ปฏิบัติตามคำสอน จะข้ามพ้นการเวียนว่ายตายเกิด ไปถึงฝั่งโน้น คือ นิพพาน ได้
สาคารวสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=5423&Z=5448
คำว่า ฝั่ง ในที่นี้ ย่อมไม่ใช่ ชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือ ชายฝั่งใดๆในโลกนี้ แต่ใช้เป็นถ้อยคำสื่อให้คนเข้าใจถึงนิพพานในเบื้องต้น โดยใช้ถ้อยคำที่ใช้กันในโลกนี้ เพื่อให้เข้าใจง่ายนั่นเอง

ภาพการสื่อถึงแดนเกษมจากโยคะ พอให้เป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้ยังเวียนว่าย
หรือแม้แต่ในพระไตรปิฎกอีกบทหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการแสวงหาอันประเสริฐ 4 ประการ เพราะมีคนเรามีความแก่ เจ็บ ตาย และเศร้าหมองเป็นธรรมดา การแสวงหา นิพพาน อันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย และไม่เศร้าหมอง จึงเป็นแดนเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ซึ่งคำว่า แดนเกษมจากโยคะ หมายถึง แดนที่ปลอดจากเครื่องผูกมัดทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ แดนเนรมิต แดนสวรรค์ หรือดินแดนใดๆ ในโลกนี้ แต่หมายถึง นิพพาน นั่นเอง นี่ก็เป็นการยกคำว่า แดน ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันอยู่ในโลก มาเปรียบเป็นนิพพาน แต่ไม่ได้หมายความว่า นิพพานเป็นดินแดนใดๆ ที่อยู่ในโลกนี้ครับ

สรุปแล้ว ในพระไตรปิฎก ก็มีการยกคำที่เปรียบเสมือนสถานที่ หรือดินแดน ที่ใช้พูดกันในโลกนี้ มาแทนคำว่า นิพพาน ทั้งนี้เพื่อเป็นอธิบายเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติธรรมพอเห็นภาพนิพพานได้ง่ายขึ้น เพราะหากเอาแต่พร่ำบอกว่า “ขอท่านจงตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ไม่ใช่อะไรในโลกนี้ หรือโลกหน้า ไม่ใช่โน่นนี่นั่น เถิด” ผมว่า แทนที่ชนทั้งหลายจะอยากปฏิบัติธรรม เขาจะพากันสะดุดและนึกภาพตามว่า เอ เจ้าสิ่งที่ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โน่น นี่ นั่น นี่มันหน้าตาเป็นยังไงกันนะ” ท่านจึงเลือกใช้คำว่า ฝั่ง บ้าง แดนเกษมบ้าง ดังที่กล่าวมาแต่ข้างต้นนั่นเองครับ

สุดท้ายนี้ ไม่ว่า นิพพานจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ชัดเจนคือ นิพพานไม่มีการแก่ เจ็บ ตาย และความเศร้าหมองทั้งปวง หลักปฏิบัติเพื่อไปนิพพานก็มีอยู่แล้ว คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนั้น พวกเราก็ลงมือปฏิบัติธรรมกัน ตามคำสอนของพระพุทธเจ้ากันเถิดนะครับ อย่านำนิพพานซึ่งเป็นอุดมการณ์อันสูงส่งในทางพระพุทธศาสนา มาใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้าง ด้วยความไม่เข้าใจกันและกันอีกเลย

บทส่งท้ายเรื่องนิพพาน อย่าให้เป็นเครื่องทำลายกันอีกเลย บทส่งท้ายเรื่องนิพพาน อย่าให้เป็นเครื่องทำลายกันอีกเลย Reviewed by Kiat on 03:42 Rating: 5

5 ความคิดเห็น:

  1. ที่มา นี่หรือนิพพาน http://sunyata2559.blogspot.com/
    ... ไปค้นหาอะไรกันอยู่ ไปทะเลาะอะไรกันอยู่ สิ่งที่เราเข้ามาทะเลาะกันเนี่ย อ้างเหตุอ้างผลเข้าขัดแย้งกันเนี่ย ล้วนเป็นของโลกทั้งสิ้นเลย ทะเลาะกันเรื่องนิพพาน แต่สิ่งที่อ้างมาพูดมันก็เป็นของโลกทั้งนั้น ก็พูดกันไปก็ไม่มีใครผิดใครถูกหรอก เพราะสติปัญญาของบุคคลไม่เสมอกันเลย เหตุผลมันก็ต่างๆ นานา ตามสติปัญญา ตามบุญและบาปที่อาศัยอยู่ เพราะยังมีความข้องอยู่ในเหตุและผล ถ้าพ้นจากเหตุจากผลไปได้ มันก็นิพพานของมันอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะพูดยังไง เขาจะว่ายังไง ก็ไม่ผิดของเขาหรอก เพราะสติปัญญาเขาเป็นอย่างงั้น เขาต้องดำเนินไปอย่างงั้น
    ที่มา นี่หรือนิพพาน http://sunyata2559.blogspot.com/

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สาธุด้วยครับ อย่าทะเลาะกันเรื่องนี้อีกเลย ซึ่งในปี 2542 หลวงพ่อธัมมชโยไม่ได้โดนแค่ชวนทะเลาะเรื่องนิพพาน แต่ฝ่ายโน้นดำเนินการจะจับท่านสึกด้วยข้อหา คิดว่าท่านสอนเรื่องนิพพานไม่ตรงใจตัว นี่แหละครับ จึงเป็นที่มาของบทความนี้

      ลบ
  2. ในพระไตรปฏกอายตนนิพพานนั้มีอยู่แต่ รูปนามหยั่งลงไม่ถึง ดังนั้นการอธิบายสภาวะนิพพานโดยอาสัยรุปนามไม่๔ูกตอ้ง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แสดงความเห็นได้ดึขึ้นครับ ผมเคยอ่านบางบทความ ของใครที่อ้าง ท่านประยุกต์ บอกอายตนนิพพาน ไม่มี ผมก็เปิดตำราดูว่า มี แล้วบอกไม่มีๆได้อย่างไร ส่วนคุณแสดงความเห็นว่า มี แสดงว่า เข้าใจมากขึ้น ดีแล้วครับ

      ส่วนว่า จะอธิบายถูกหรือไม่ถูก ก็ศึกษาไว้ไปดูเองดีกว่า ขนาดในตำราอธิบายว่า นิพพานเป็นแดนเกษมจากโยคะ หากไม่อ้างตำรา ไปเจอพวกไม่รู้แล้วชี้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ เลยครับ อ้างเขาไม่พูดว่าเป็นดินแดนอย่างนั้นอย่างนี้ ก็นี่ไงในตำราเขามี เขาก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่ใช่ดินแดนอะไรที่เหมือนโลกในภพสาม เหมือนปลาที่ไม่เคยเห็นบกเลย ย่อมไม่อาจเข้าใจภาพของบนบก เพราะมองเห็นแต่ภาพในน้ำ นั่นแหละครับ

      ลบ
  3. ดวามหมายที่ว่ารูปนามหยั่งลงไม่ถีง หรือดับไม่เหลือในนิพพานนั้นหมายถึง ไม่มีอัตตาตัวตนในนิพพานนะครับ ในพระไตรปิกกการเห็นตนในธรรมธาตุเป็นทิฐฐิ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.