ห้ามการให้ทาน ถ้าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา ย่อมเป็นสิ่งที่ดี จริงหรือ

จากการที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการให้ทานหลากหลายความคิด ความคิดแรก เห็นว่า การให้ทาน ควรถวายทานกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากให้ทานแบบสังคมสงเคราะห์ถือว่า ได้บุญน้อย ไม่ควรทำ
การถวายสังฆทาน หนึ่งในการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์
สร้างสงเคราะห์โลก เช่น การสร้างอาคารเรียน
ความคิดที่สองเห็นว่า การให้ทาน ควรให้ทานแบบ สงเคราะห์โลกเท่านั้น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ตกทุกข์ได้ยากต่างๆ เท่านั้น การถวายทานแก่พระสงฆ์ ไม่ควรทำ เพราะพระสงฆ์อยู่เฉยๆ ไม่ทำการงานอันใดให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตรงกันข้าม มีแต่ข่าวคราวพระสงฆ์ทำให้สังคมเสื่อมเสียอยู่เป็นระยะๆ หรือ ถ้าหนักเข้า ก็คิดถึงขนาด นอกจากไม่ให้ทานแล้ว ให้ดำเนินการเก็บภาษีจากพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่ได้รับถวายทานไปแล้ว เอาเงินเข้ารัฐ ไปบริหารพัฒนาประเทศเพิ่มเติมได้ด้วย อย่างนี้คุ้มค่ากว่า โดยมองว่า พระรับทานของญาติโยมเอาเปรียบสังคม

                              
ความคิดที่สามเห็นว่า การชักชวนไปทำทานในวัดที่ปฏิบัติผิดจากหลักของพระพุทธศาสนา ไม่ควรทำเพราะเป็นบาป ได้บาปมากกว่าได้บุญ ส่วนการห้ามทำทาน ในวัดที่ปฏิบัติผิดจากหลักของพระพุทธศาสนา ควรทำเพราะเป็นการปกป้องพระศาสนา ได้บุญเต็มที่

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ความคิดที่สี่เห็นว่า การชักชวนไปให้ทาน ไม่ว่าจะให้ทาน ทั้งในหรือนอกพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ดีควรกระทำ ไม่ควรไปห้ามปราม เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ส่วนผู้ห้ามย่อมไม่เป็นที่รัก และจะได้บาปติดตัวไป อีกทั้งการมองที่วัดไหน ปฏิบัติผิดหรือไม่ผิดจากพระพุทธศาสนา ให้ตรวจสอบให้ถ่องแท้แน่ชัดก่อน เพราะสื่อสมัยนี้ ตัดต่อเก่ง หากตัดต่อใส่ร้ายวัดที่ดี แล้วเขาไปเชื่อตาม เขาก็จะหลงทำบาปโดยไม่รู้ตัว ส่วนการห้ามให้ทาน มีหลักสำคัญคือ ไม่ส่งเสริมให้เขาทำบาปเพิ่มขึ้น หากไม่เหมาะสม ควรห้ามการให้ทาน

ปริพาชกสนทนาธรรมกับพระภิกษุ
ยังมีความคิดเรื่องการให้ทานอีกหลายแนว แต่ของยกตัวอย่างบางแนวมาพอสังเขป เพราะเป็นตัวอย่างที่ชี้นำสังคมอยู่ในเวลานี้ แล้วหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไร ผมจึงลองนำมาให้พวกเราได้ศึกษาร่วมกันครับ
                       
เนื้อหาบทแรกที่ยกมา ชื่อว่า ชัปปสูตร กล่าวถึง ปริพาชกซึ่งถือเป็นนักบวชพวกหนึ่งในสมัยพุทธกาล ชื่อว่าวัจฉะ ได้มาสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า โดยปริพาชกกล่าวถามว่า

ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่พึงให้ทานแก่คนอื่นๆ
พึงให้ทานแก่สาวกของเราพวกเดียว ไม่พึงให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ ทานที่ให้แก่เราและสาวกของเรา มีผลมาก
ทานที่ให้แก่คนอื่นๆ และสาวกของคนอื่น มีผลน้อย ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า ท่านตรัสถ้อยคำเช่นนี้จริงหรือไม่ แต่การพูดให้ผู้คล้อยตามไปเช่นนี้ ไม่น่าติเตียนหรืออย่างไร
พระองค์ทรงตรัสขึ้นว่า
วัจฉะเอ๋ย ผู้ใดที่พูดเช่นนี้ ผู้นั้นถือว่า กล่าวตู่เรา ด้วยถ้อยคำที่ไม่จริงด้วย และไม่ดีด้วยความจริงแล้ว ผู้ใดห้ามผู้อื่นให้ทาน (ไม่ว่ากับใคร) ผู้นั้นย่อมชื่อว่า ทำอันตราย 3 ประการ เปรียบเสมือนโจรที่ดักปล้นสิ่งดีๆ 3 ประการไป ได้แก่

                 
หนึ่ง ทำให้บุญของผู้ตั้งใจถวายต้องสิ้นไป สอง ทำให้ลาภของผู้รับทานต้องมลายหายไป และสาม ศรัทธาของบุคคลนั้น ย่อมถูกกำจัดให้สิ้นไปตั้งแต่แรกทีเดียว
วัจฉะเอ๋ย ผู้ใดก็ตาม เพียงสาดน้ำลงไปในบ่อน้ำครำหน้าประตูบ้าน ด้วยหวังว่า ของให้สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ที่นี้จงได้น้ำนี้หล่อเลี้ยงชีวิต เพียงเท่านี้ บุญก็ย่อมเกิดขึ้นแล้วป่วยการไปพูดถึงการให้ทานกับมนุษย์ ที่จะไม่เกิดบุญนั้นเป็นไม่มี เพียงแต่ ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลย่อมมีผลมากกว่าทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล ยิ่งถ้าผู้มีศีล เป็นผู้หมดกิเลสแล้ว ทานที่ให้แก่ท่านย่อมมีผลมาก
ชัปปสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=4227&Z=4284&pagebreak=0

อีกบทหนึ่ง กล่าวถึงภิกษุณีชื่อ ถุลลนันทา ครั้งหนึ่งญาติโยมที่ปรกติคอยทำนุบำรุงภิกษุณีรูปนั้น ได้แจ้งให้ท่านทราบว่า พวกเขามีความประสงค์จะถวายจีวรแด่ภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีถุลลนันทา ได้ฟังเช่นนั้น ก็กล่าวขัดขวางว่า
อย่าเลย อย่าเพิ่งถวายเลย ให้เวลาล่วงไปก่อนเถิด พวกท่านยังมีธุระมาก มีการงานที่ยังจะต้องทำอีกมาก อย่าเพิ่งถวายตอนนี้เลย
ครั้นเวลาผ่านไป เหล่าญาติโยมยังไม่ทันได้ถวายจีวร ก็เกิดไฟไหม้บ้านเรือนพวกเขาขึ้นมา พวกญาติโยมจึงได้โพนทนาติเตียนภิกษุณีถุลลนันทา ว่าท่านทำให้ไทยธรรมของพวกตนต้องพินาศ ทำให้พวกตนต้องคลาดจากประโยชน์ คือ โภคทรัพย์ และบุญ อีกทั้งยังทำให้ ลาภของภิกษุณีสงฆ์ คือ จีวร ต้องเสื่อมสิ้นไป

ครั้นความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนภิกษุณีถุลนันทา ว่าทำลาภของหมู่คณะให้เสื่อมสิ้นไป แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุณีใด ทำลาภ คือ จีวรของหมู่คณะให้เป็นอันตราย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (คือ อาบัติอย่างเบา ให้ปลงอาบัติ โดยการบอกอาบัตินั้น แก่เพื่อนพรหมจรรย์ เพื่อตั้งใจจะไม่กระทำอีกในภายภาคหน้า)

ภิกขุนีวิภังค์ : http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=3&A=3392&Z=3431&pagebreak=1

จากเรื่องราวในพระไตรปิฎกทั้งสองเรื่องสรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุนการห้ามให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามให้ทานในพระพุทธศาสนา หรือ การห้ามให้ทานนอกพระพุทธศาสนา เช่น การทำทานในศาสนาอื่น การสงเคราะห์โลก เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในวาระต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ดีควรทำ ควร และเป็นบุญเป็นกุศลแก่ผู้กระทำทั้งสิ้น

ส่วนผู้ใดไปห้าม ผู้อื่นให้ทาน ย่อมชื่อว่าทำลายบุญของผู้ให้ ลาภของผู้รับ และทำลายศรัทธาของตนเองให้เสื่อมลงไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ย่อมเป็นอันตรายต่อผู้นั้นอย่างยิ่ง 


แล้วการห้ามให้ทาน ควรกระทำในกาลใด เพราะแม้คนทุศีล พระพุทธองค์ก็ยังทรงตรัสว่า เมื่อให้ทาน กุศลผลบุญก็ย่อมบังเกิด คำตอบคือ ห้ามการให้ทานที่จะทำให้เขากระทำบาปเพิ่มมากขึ้น เช่น ให้อาวุธ ให้ยาพิษแก่เขาเพื่อนำไปฆ่า ให้สื่อลามกอนาจารแก่เขาเพื่อให้เขากามกำเริบ ฯลฯ หากเราเห็นว่า ผู้ใดคิดดำเนินการให้เช่นนี้ เราสามารถห้ามไม่ให้เขาให้ทานเช่นนี้ได้ การห้ามการให้ทานเช่นนี้ ย่อมเป็นบุญกุศล แก่ผู้ห้ามให้ทาน

แต่การให้ข่าวให้น้ำ เสื้อผ้า หรือวัตถุทานทั่วๆไป แม้แก่คนทุศีล ย่อมไม่ควรไปห้ามปราม เพราะยังไม่แน่ว่า เขาจะนำวัตถุเหล่านั้นไปทำบาปทำกรรม ดังนั้น พระพุทธเจ้า จึงไม่ได้ทรงห้ามปรามการให้ที่ดีงาม แม้แก่สัตว์เดรัจฉาน หรือ คนทุศีลก็ตาม แต่ถ้ายิ่งได้ให้แก่คนมีศีล คนที่ละกิเลสได้แล้ว ผลบุญยิ่งมากขึ้นทับทวี


อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แม้พระพุทธเจ้าเองในสมัยพุทธกาล ก็ยังทรงถูกคนกล่าวตู่ใส่ร้าย หลายๆ คำพูด พระพุทธองค์ไม่ได้พูดไว้ ก็มีคนนำไปอ้างว่า ว่าได้ยินมาว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสเช่นนั้นเช่นนี้ เป็นต้น ซึ่งบัณฑิตที่แท้ ควรกระทำอย่าง วัจฉปริพาชก คือ มาพูดคุยสนทนา สอบถามหาความจริงจากพระพุทธองค์ด้วยตัวของเขาเอง เป็นดีที่สุด
การกล่าวตู่พระตถาคต
ซึ่งก็คล้ายๆ เหตุการณ์ในยุคปัจจุบันนั่นเอง ที่หลวงพ่อธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย ถูกใส่ร้ายใส่ความต่างๆ นาๆ ว่าสอนให้คนหลงบุญ ขายค้อนไปสวรรค์ สารพัดข้อหาที่กล่าวตู่ขึ้นมา ดังนั้น ชาวพุทธที่ดี ควรกระทำเหมือนบัณฑิตในสมัยพุทธกาล ก่อนจะส่งต่อ แชร์ผ่านข้อมูลใดๆ ที่ไม่มั่นใจ ให้ไปพิสูจน์ศึกษาข้อแท้จริงให้ถ่องแท้ก่อน

เพราะนี่คือ วิธีการที่จะทำให้สติปัญญาเจริญพัฒนาขึ้นอย่างแท้จริง  
ห้ามการให้ทาน ถ้าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา ย่อมเป็นสิ่งที่ดี จริงหรือ ห้ามการให้ทาน ถ้าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา ย่อมเป็นสิ่งที่ดี จริงหรือ Reviewed by Kiat on 23:45 Rating: 5

3 ความคิดเห็น:

  1. อนุโมทนาบุญค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  2. สื่อสมัยนี้เชื่อถือยาก...คนอ่านคนเสพต้องศึกษาดีๆไม่งั้นเข้าใจผิด จนกลายทำให้เราพลาดโอกาส 3 ข้อได้ เราได้บุญ ผู้รับอดได้ลาภ หมดเชื่อถือกันคือหมดศรัทธากันและกันก็ได้...ขอบคุณกับข้อมูลดีๆคะ...สาธุๆๆด้วยนะคะ

    ตอบลบ
  3. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ (ศีล) กุสะลัสสูปะสัมปะทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม ๑ (ทาน) สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การกลั่นจิตชองตนให้ผ่องแผ้ว ๑ (ภ่าวนา) เอตัง พุทธานะ สาสะนังฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.